tangthai
Newbie
Karma: 1
ออฟไลน์
กระทู้: 31
สวัสดีจ้า
|
 |
« เมื่อ: กันยายน 01, 2015, 11:18:47 AM » |
|
รู้มั๊ยว่ากุ้งแชบ๊วยเปลี่ยนชื่อไปแล้วนะ ?The Valid name of Banana shrimp? (โดย อดุลย์ แมเร๊าะ..ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล)
หากมีใครตั้งคำถามว่า กุ้งทะเลชนิดใดมีรสชาติอร่อยที่สุด? กับคำถามนี้ คนที่ไม่ค่อยได้มีเวลาคลุกคลีตีโมงกับกุ้งมากนักอาจจะตอบไปต่างๆนานา กุ้งมังกรบ้างล่ะหรือจะตอบเป็นกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม ฯลฯ คำตอบข้างต้นนั้น น่าจะยังไม่ถูกต้องเท่าใดนัก ซึ่งหากเราไปถามบรรดาเซียนกินกุ้งหรือเหล่าชาวประมงรายเล็กรายใหญ่ คำตอบที่ได้รับอาจทำให้หลายคนแปลกใจ ด้วยแกจะตอบว่ากุ้งทะเลที่อร่อยที่สุดก็ต้องกุ้งแชบ๊วย เพราะว่ามันมีรสหวานของเนื้อกุ้งหอมละมุนอุ่นจมูกและนุ่มกำลังดี จะเอาไปปรุงเป็นกับข้าวประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแช่น้ำปลา ต้มยำ อบเกลือ ย่าง ฯลฯ ก็ช่างอร่อยไปเสียทุกอย่าง ขอบอก!! ส่วนที่ผมจั่วหัวเรื่องไว้ว่ากุ้งแชบ๊วยได้มีการเปลี่ยนชื่อไปแล้วนั้น ในที่นี้ผมหมายถึงชื่อวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific name ที่ได้มีการเปลี่ยนไปจากชื่อดั้งเดิม แต่สำหรับชื่อไทยนั้นยังคงเรียกแบบเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงใดๆ กุ้งแชบ๊วย หรือ Banana shrimp แรกเริ่มเดิมทีนักวิทยาศาสตร์ได้จัดให้อยู่ใน Genus หรือสกุล Penaeus ซึ่งเป็นสกุลเดียวกันกับกุ้งกุลาดำ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ นั้น เมื่อยุค 20 ? 30 ปีที่แล้ว มีการเข้าใจกันว่าในเมืองไทย มีกุ้งแชบ๊วยอยู่ 2 สายพันธุ์คือ Penaeus merguiensis และ Penaeus indicus แต่ในช่วงหลังมานี้ พบว่ามีการเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ของกุ้งแชบ๊วยในบ้านเราเพียงชื่อเดียวเท่านั้น คือ Penaeus merguiensis แต่ในปี ค.ศ. 1997 ได้มีนักอนุกรมวิธาน 2 ท่านคือ Dr.Isabel Perez Farfante และ Dr.Brian Kensley ได้รื้อฟื้นศึกษาวิจัยเพื่อแบ่งหมวดหมู่ของกุ้งกันเสียใหม่ โดยพิจารณาจากลักษณะปลีกย่อยหลายประการของกุ้งที่มันมีความแตกต่างกัน กุ้งหลายชนิดจากเดิมที่สังกัดอยู่ในสกุล Penaeus ก็ได้มีการโยกย้ายไปอยู่ในสกุลอื่นๆ เช่น Litopenaeus, Fenneropenaeus, Marsupenaeus, Farfantepenaeus โดยที่มีกุ้งทะเลเพียงแค่ 3 ชนิดเท่านั้นที่ยังเกาะเก้าอี้ติดหนึบอยู่ที่เดิม หมายถึง ยังคงอยู่ในสกุล Penaeus เหมือนเดิม คือ Penaeus monodon (กุ้งกุลาดำ) Penaeus esculentus และ Penaeus semisulcatus ส่วนกุ้งชนิดอื่นๆที่เดิมเคยสังกัดอยู่ในจีนัส Penaeus นั้น โดนย้ายยกกระบิแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่จีนัสอื่นๆกันถ้วนหน้า ซึ่งผมไปสืบดูแล้ว พบว่านักอนุกรมวิธานทั้งสองท่านไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอธิบดีหรือว่าปลัดกระทรวงใดๆเลย แต่มีสิทธิ์ลงนามสั่งย้ายได้ ผมล่ะงง! นักอนุกรมวิธานทั้งสองท่านที่ได้กล่าวนานมาแล้วนั้น เมื่อร่างโผโยกย้ายกุ้งกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งย้าย เอ้ย! ไม่ใช่ครับ ได้พิมพ์ตำราผลงานวิจัยในเรื่องของการแบ่งหมวดหมู่ชนิดของกุ้งกันเสียใหม่ ตั้งชื่อที่ปกหนังสือว่า Penaeoid and Sergestoid Shrimps and Prawns of the World : Keys and Diagnoses for the Families and Genera โดยตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1997 จากที่ผมได้บอกในตอนต้นว่า เดิมทีนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้จัดให้กุ้งแชบ๊วยสังกัดอยู่ใน Genus หรือสกุล Penaeus แต่ในหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น ได้ย้ายกุ้งแชบ๊วยไปอยู่ในสกุล Fenneropenaeus จึงต้องเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ของกุ้งแชบ๊วยเสียใหม่โดยปริยายกลายเป็น Fenneropenaeus merguiensis โดยที่นักอนุกรมวิธานและนักวิจัยด้านกุ้งทะเลทั่วโลกต่างขมีขมันตกลงปลงใจใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ได้เปลี่ยนไปนั้นกันโดยทั่วหน้า ในเรื่องนี้ เท่าที่ผมได้อ่านเอกสารวิชาการเรื่องกุ้งทะเลพบว่านักวิจัยของประเทศสยามบ้านเรานั้น หลายคนหันไปใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของกุ้งแชบ๊วยแบบใหม่อย่างที่ชาวโลกส่วนใหญ่เขาใช้กัน แต่พบว่ามีบางท่านที่ยังคงใช้ชื่อเดิมกันอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะแกคิดที่จะอนุรักษ์ชื่อเก่า หรือว่าอาจจะยังไม่ทราบชื่อใหม่หรือยังงัยผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด ทั้งๆที่ชื่อวิทยาศาสตร์อันใหม่ที่ว่านี้ เขาประกาศใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1997 นับจนถึงเวลา ณ ปัจจุบันนี้ก็ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี จริงๆแล้ว การใช้ชื่อเดิมแบบนั้น มันก็ไม่ได้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือว่าจะทำให้ใครเขาท้องเสียถ่ายไม่หยุดอะไรหรอกครับ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าหากเราเรียกชื่อวิทยาศาสตร์อันที่ผู้คนในโลกส่วนใหญ่เขานิยมใช้กัน
|