ปูทะเลหรือปูดำเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ ปัจจุบันจะเห็นว่าปูดำได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมาก ทั้งคุณค่าทางอาหาร และรสชาติของเนื้อปู อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอาหารของคนรวย หรือคนมีตังค์ไปแล้ว สำหรับด้านตลาดความต้องการสูงมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาจึงค่อนข้างแพง เพราะการจับปูดำจากธรรมชาติอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ฉะนั้นการชดเชยหรือทดแทนความต้องการปูดุด้านการตลาดนั้น ควรจะเน้นการเลี้ยงให้มากขึ้น การเลี้ยงปูนั้นทำกันมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเลี้ยงกันนั้นจะมีเทคนิคที่แตกต่างกัน เช่น เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ การเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในบ่อซิเมนต์ การเลี้ยงในกระชัง เป็นต้น แต่บทความที่นำเสนอนี้จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการเลี้ยงปูดำที่แตกต่างออกไปคือ การเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยได้ยินหรืออ่านมาบ้างแล้วหรือบางท่านอาจจะไม่เคยได้ยิน ลองมาอ่านดูว่าการเลี้ยงแบบระบบน้ำหมุนเวียนหรือระบบปิดนั้น เขาเลี้ยงหรือมีวิธีการอย่างไร
ภาพจาก https://phuketaquarium.org
การเลี้ยงสัตว์น้ำระบบน้ำหมุนเวียน
เป็นระบบผลิตสัตว์น้ำด้วยความหนาแน่นสูง (100-130 kg/m3) โดยการควบคุมสภาพ แวดล้อม เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย ให้เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ด้วยการหมุนเวียนน้ำผ่านระบบบำบัดแล้วนำกลับไปเลี้ยงสัตว์น้ำใหม่ (ดูแผนภูมิ)
แผนภูมิแสดงการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน
ดูจากแผนภูมิระบบน้ำหมุนเวียนหากศึกษารายระเอียดไม่ใช่เรื่องยากนัก เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อที่ไม่มากนัก ใช้คนดูแลน้อย 1-2 คน เท่านั้นก็ทำได้ บ่อเลี้ยงสามารถเลี้ยงได้หลายบ่อไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบ ระบบนี้ส่วนมากนิยมใช้เลี้ยงปลาที่มีความหนาแน่นสูง ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ระบบนี้สามารถดัดแปลงเปลี่ยนมาเลี้ยงปูทะเลแทนได้ ซึ่งผลไม่น่าจะแตกต่างกัน เพราะปูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง วิธีการเลี้ยงแบบน้ำหมุนเวียนจึงเหมาะกับผู้ที่มีเนื้อที่น้องและเงินทุนจำกัด แต่หากจะให้คุ้มค่ากับการลงทุนนั้น การเลี้ยงปูแบบไหนจะคุ้มค่ากับการลงทุนแบบระบบน้ำหมุนเวียน ปูนิ่มน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะปูนิ่มใช้เวลาในการเลี้ยงไม่นาน หากจัดการระบบได้ดีมีคุณภาพ ภายใน 1 เดือนสามารถเลี้ยงได้ 1 รุ่น หรือ 1 ปี เลี้ยงได้ 10 รุ่น น่าสนใจไม่น้อย
การเลี้ยงปูทะเลให้เป็นปูนิ่มในบ่อซิเมนต์หรือถังพลาสติก
ปูดำที่จะนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มนั้น ควรจะเป็นปูจิ๋วหรือปูขนาดเล็ก ขนาดควรจะ 15-18 ตัว/กิโลกรัม ขนาดความกว้างของกระดอง 5-6 ซม. ที่สำคัญคือควรเป็นปูเพศผู้ที่อยู่ในระยะลอกคราบระยะที่ 3 เพราะปูระยะนี้จะลอกคราบเร็ว หลักการคัดเลือกปูมาทำปูนิ่มนั้นสำคัญมาก กำไรจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับต้นทุนการซื้อปูมาทำปูนิ่ม หากซื้อปูขนาดที่ใหญ่มาทำต้นทุนจะสูง และเวลาในการลอกคราบจะนานกว่า เมื่อได้ปูดำขนาดที่ต้องการแล้วก็นำมาเลี้ยงในบ่อซิเมนต์หรือถังพลาสติกขนาดของบ่อหากเป็นบ่อซิเมนต์ไม่ต้องให้ลึกมากนักควรจะเป็นขนาด 2.00 x 5.00 x 0.50 ม. หากถังพลาสติกประมาณ 2-3 ตัน หากขนาดใหญ่เกินไปจะดูแลยาก เพราะการเลี้ยงปูนิ่มจะใช้ความสูงของน้ำแค่ 30 ซม. ความสะอาดควรเน้นเป็นพิเศษ ระบบการให้ออกซิเจนในน้ำต้องสูงอยู่ตลอดเวลา
เทคนิคในการเลี้ยงปูนิ่มในบ่อซิเมนต์หรือถังพลาสติก
ก่อนนำมาเลี้ยงควรฆ่าเชื้อโรค พาราสิต และแบคทีเรียเสียก่อน โดยใช้ ไอโอดีน คอปเปอร์ ด่างทับทิม เป็นต้น ควรจะแช่อย่าให้นานนัก 5-10 นาที ก่อนเลี้ยงควรปล่อยให้ปูปรับตัวในสภาพบ่อเสียก่อนประมาณ 24 ชม. ความหนาแน่นควรจะอยู่ที่ 30-40 ตัว/ตรม. ธรรมชาติของปูนั้นจะลอกคราบในช่วงน้ำขึ้นลงเต็มที่ระหว่างขึ้น 15 ค่ำและแรม 3 ค่ำ ใช้เวลา 1-2 เดือนในการลอกคราบ ซึ่งใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นเทคนิคที่จะช่วยให้ปูลอกคราบเร็วขึ้น วิธีที่ใช้ได้ผลดี คือ ตัดระยางค์ของปูทิ้ง คือ ตัดขาเดินทั้ง 4 คู่ ให้เหลือแต่ขาว่ายน้ำคู่สุดท้าย โดยใช้คีมจับรยางค์ที่ต้องการตัดไว้เฉย ๆ แล้วปล่อยให้ปูเป็นอิสระ สัญชาติญาณการเอาตัวรอดปูจะทิ้งรยางค์ส่วนนั้น โดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยให้ปูลอกคราบภายใน 20-25 วัน ปัจจัยอื่น ๆที่มีอิทธิพลต่อการลอกคราบเร็วขึ้นได้แก่ ฮอร์โมนทีจะกระตุ้น ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ และโรงเรือนที่คลุมบ่อเลี้ยงควรคลุมด้วยสแลมหรือผ้าใบ เพราะปูดำชอบอยู่ในที่ทึบแสง อาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารสดจะเป็นปลาหรือหอยก็ได้ โดยให้อาหารวันละ 1 มื้อ ในอัตราร้อยละ 8-10 ของน้ำหนักปู เมื่อปูใกล้จะลอกคราบจะกินอาหารน้อยลง และจะหยุดกิน 2-3 วันก่อนจะลอกคราบ ช่วงนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะปูลอกคราบในเวลากลางคืน ใช้เวลา 10-15 นาที หลังจาก 6 ชั่วโมง กระดองจะเริ่มแข็ง ไม่สามารถทำปูนิ่มได้
ข้อดีของการเลี้ยงปูด้วยระบบน้ำหมุนเวียน
1. ได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี รวดเร็ว จะทำให้ผู้เลี้ยงคืนทุนเร็วกว่าการเลี้ยงคืนทุนเร็วกว่าการเลี้ยงปูแบบอื่นๆ
2. ใช้เนื้อที่ไม่มากในการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้ในครัวเรือน
3. ดูแลและการจัดการสะดวกในการทำความสะอาดบ่อเลี้ยงและให้อาหาร
4. ใช้เวลาในการเลี้ยงไม่มากนัก ภายใน 1 ปี สามารถเลี้ยงได้หลายรุ่น
5. ไม่ต้องถ่ายน้ำทุกวัน 2 สัปดาห์ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างน้อยละครั้ง
6. ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดเพราะเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ
7. สามารถเลี้ยงได้ในอัตราความหนาแน่นสูง
ข้อเสีย
1. พันธุ์ปูที่นำมาเลี้ยงปูนิ่มมีราคาค่อนข้างสูง และปูเล็กมักจะขาดตลาด
2. ระบบน้ำหมุนเวียนเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายต้องศึกษาเรื่องโรคต่างๆ และวิธีป้องกันให้ได้ก่อนจะทำการเลี้ยง
3. เทคนิคการเลี้ยงแบบตัดระยางก์เพื่อเร่งให้ปูลอกคราบเร็วขึ้นนั้น หากมองให้ลึกซึ้งอาจจะเป็นการทารุนสัตว์เพื่อสนองความต้องการ
4. ผู้เลี้ยงรายใหม่ๆ อาจขาดประสบการณ์ในการเลี้ยง ควรจะศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ลึกซึ้งและเข้าใจเพื่อป้องกันปัญหาการขาดทุน
5. ระยะเวลาลอกคราบต้องคอยหมั่นดูแลเป็นพิเศษ ทำให้ต้องขาดการพักผ่อนบ้างในระยะนี้
สรุป
การเลี้ยงปลามาทำปูนิ่มด้วยระบบน้ำหมุนเวียนเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าลงทุนสำหรับเกษตรกรที่สนใจ หากเปรียบเทียบกับการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ปูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมมาโดยตลอดโดยเฉพาะต่างประเทศ จึงทำให้ราคาของปูนิ่มมีราคาดีมาโดยตลอด ผลตอบแทนดี รอดตัว การจัดการสะดวกเหมาะกับเกษตรกรที่มีเนื้อที่น้อยแต่มีความตั้งใจและสนใจบทความนี้ อาจจะเป็นแนวทางให้ท่านได้มากน้อยตามสมควร
เอกสารอ้างอิง
ผศ.ดร.บรรจง เทียนล่องรัศมี และนายบุญรัตน์ ประทุมชาติ. 2545. ปูทะเล ชีววิทยา การอนุรักษ์ทรัพยากรและการเพาะเลี้ยงในเชิงพานิชย์แบบยั่งยืน. ภาควิชาวาริชศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา. 264 หน้า.
วิวรรธน์ สิงห์ทวีศักดิ์. 2546. การเลี้ยงปูทะเลให้เป็นปูนิ่มในบ่อซิเมนต์. เอกสารวิชาการฉบับที่ 1/2546 สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง. 22 หน้า.
กลุ่มงานทุนอุดหนุนการวิจัย กองส่งเสริมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 2547. โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปูทะเลเชิงการค้า. เอกสารประกอบการสัมมนา.
นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์. 2535. คู่มือการเลี้ยงปูทะเลขุน. กรมประมง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 29 หน้า.