ครั้นพูดถึงธุรกิจสัตว์เลี้ยงทะเล คุณคงนึกถึงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อ 5-6 ปีก่อนธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเฟื่องฟูมากในแถบฝั่งทะเลอ่าวไทย ต่อมาได้ประสบปัญหาโรคของกุ้งกุลาดำ ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำส่วนมากประสบปัญหาการขาดทุนกันเยอะไม่หน่ำซ้ำราคากุ้งกุลาดำยังตกต่ำประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ผู้เลี้ยงกุ้งเลยปล่อยให้บ่อเลี้ยงกุ้งนั้นว่างเปล่าโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลยซึ่งแนวทางการเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มยังคงมีอยู่ ซึ่งผมขอเสนอธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งน่าจะดีกว่าปล่อยบ่อกุ้งให้ร้างโดยเปล่าประโยชน์ นั่นก็คือ ธุรกิจการเลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุนทะเล มันเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายขายสู่ทอดตลาดได้เร็ว อาจจะช่วยให้คุณมีรายได้ในครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิม
ภาพจาก http://www.kasetplus.com/
เลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุนแบบง่าย ๆ
การเลี้ยงปูขุนโดยช่วงแรกต้องซื้อพันธุ์ปูที่มีลักษณะเนื้อยังไม่แน่น พันธุ์ปูส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดสุราษฏ์ธานีและนครศรีธรรมราช แต่ปัจจุบันสองจังหวัดนี้มีปริมาณพันธุ์ปูที่น้อยลงเกษตรส่วนใหญ่สั่งพันธุ์ปูจากจังหวัดระยองแทน การคัดเลือกพันธุ์นั้นควรจะแยกเพศปูซึ่งมักจะมีปูกะเทยติดมาด้วย แต่ก็ไม่เรื่องที่หนักใจ เพราะปูกะเทยสามามารถนำมาเป็นปูนิ่มได้เหมือนกับปูเพศผู้ ส่วนปูเพศเมียที่ติดมานั้นก็สามารถนำไปเลี้ยงปูขุนเพียงอย่างเดียว เพราะใช้เวลาในการเลี้ยงยาวนานเพราะมันไม่ค่อยลอกคราบนั่นเอง
การเตรียมบ่อปูนิ่ม
เพียงดูดน้ำเข้าบ่อให้มีระดับความสูง 1 เมตร ก็สามารถเลี้ยงปูได้หลายรุ่นมานานนับปีเลยทีเดียว แต่การเลี้ยงปูขุนนั้นต้องถ่ายเทน้ำบ่อยครั้ง เพราะอาหารที่ปล่อยลงไปให้ปูจะทำการหมักหมมของเชื้อโรคได้ จากนั้นก็นำมาปล่อยบ่อกุ้งเดิมที่เตรียมไว้ และให้อาหารทุกวัน เมื่อครบ 15 วัน ก็สามารถจับมาขายได้แล้ว เนื่องจากเนื้อปูจะแน่นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสร้างรสยได้เกือบเท่าตัวเลยที่เดียว แต่การเลี้ยงปูขุนมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อจับปูขุนจากบ่อแล้วจำเป็นต้องขายในทันที เนื่องจากปูขุนไม่สามารถนำไปแช่แข็งได้ เพราะตลาดไม่นิยม นอกจากนี้การเลี้ยงปูขุนในบ่อดินจำเป็นต้องจับทุก ๆ 15 วัน หรือ 20 วัน เพราะหากว่า เลี้ยงนานกว่านี้อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะปูตัวเมียที่ไข่แก่เต็มที่มันเป็นสัตว์ที่ออกไข่ที่มีคลื่นทะเลกระตุ้น ไม่เช่นนั้นจะแน่นท้องและตายในที่สุด
เลี้ยงปูนิ่มต้องลงทุนเพิ่ม
บ่อเลี้ยงปูนิ่มตรงกลางบ่อควรจะมีทางเดินและควรจะมุงหลังคา เพื่อที่จะได้นั่งคัดเลือกและให้อาหารปูนิ่มด้วย สะพานและหลังคาควรจะใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อประหยัดต้นทุน เช่น การใช้ไม้ไผ่ทำเป็นทางเดินและใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคากันแดด
นอกจากนี้แพสำหรับปูนิ่มควรใช้ท่อพีวีซี หรือวัสดุในท้องถิ่นที่ทดแทนกันได้ ไม้ไผ่ยาว 8-9 เมตร ประมาณ 8 ท่อน วางขนานกันเป็นแนวยาวแต่ละท่อนมีระยะห่างประมาณ 20 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่วางเป็นแนวขวางและใช้เชือกผูกติดกัน เมื่อทำแพเสร็จก็สามารถหาตะกร้าที่นำปูมาใส่ตะกร้าควรมีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร มีฝาปิดเรียบร้อย นำไปวางไว้ระหว่างท่อ พีวีซี จะทำหน้าที่เป็นคานและบีบรัดตะกร้า จริง ๆ แล้วตะกร้าปูนิ่ม 1 ชุด มีสองใบด้านล่างควรมีช่องว่างเล็ก ๆ เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก ส่วนด้านบนควรจะเจาะรูขนาดเหรียญ 5 ประมาณ 12 รู เพื่อใช้ใส่อาหารให้ปูนิ่ม
การเลี้ยงปูนิ่มต้องตรวจเช็คทุก ๆ 4 ชั่วโมง
การตรวจเช็คการลอกคราบของปูนิ่มควรจะตรวจเช็คทุก ๆ 4 ชั่วโมง โดยดึงแพเข้าหาตัวเองอย่างช้า ๆ และสังเกตดูในตะกร้าใบใดมีปู 2 ตัว ให้ยกตะกร้าใบนั้นขึ้น เพราะว่าปูได้ลอกคราบเป็นปูนิ่มแล้ว
การให้อาหารปูนิ่ม
ควรให้อาหารทุก ๆ วัน ในช่วงบ่ายวันละ 1 ครั้ง โดยประมาณ 15 วัน ปูก็ออกคราบแล้ว ซึ่งปัจจัยในการลอกคราบไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องอาหารการกินเท่านั้น ความเค็มก็มีผลต่อการลอกคราบของปูด้วย ระดับความเค็มควรอยู่ที่ 20-25 พีพีที หากปูลอกคราบแล้วเราไม่ตรวจเช็คภายใน 1-2 ชั่วโมง อวัยวะของปูก็เริ่มแข็งตัว โอกาสที่จะเป็นปูนิ่มก็จะหลุดลอยไปต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 2-4 สัปดาห์ จึงจะลอกคราบใหม่อีกครั้ง
อาหารที่จะให้ปูนิ่มจะหาอาหารตามท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เช่น ปลานิลที่อยู่ตามธรรมชาติเพราะราคาไม่สูงเกินไป โดยราคาปลานิลอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท ส่วนปลาชนิดอื่นจะมีราคาแพงกว่าปลานิล เช่น ปลาหลังเขียว ปลาข้างเหลือง ซึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม
ตลาดปูนิ่ม
ปี พ.ศ. 2550 ปูนิ่มที่ขายกันตามร้านอาหารและภัตตาคารมีชื่อในเมืองใหญ่ๆ ประมาณกิโลกรัมละ 250-300 ส่วนราคาหน้าฟาร์มอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 170-200 บาท ตลาดต่างประเทศนั้นยังไม่มีการสำรวจและเปิดตลาดเท่าที่ควร ประเทศที่มีศักยภาพสูงสำหรับปูนิ่มของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวันและจีน
การเลี้ยงปูนิ่มนับว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่เกษตรกรอาชีพหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่ยังไม่ได้ตกลงในอาชีพ และยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันดี ปูนิ่มนี่แหละเป็นหนึ่งอาชีพที่ควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย...นายอนันต์ มิตรช่วยรอด
อ้างอิง
ไชย ส่องอาชีพ. มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์หลัง 492 วันที่ 15 เมษายน 2551. เทคโนโลยี ชาวบ้าน หน้าที่ 100-101 .